Site icon Thumbsup

เจาะเทรนด์สร้างเว็บไซต์ปีจอ เมื่อวิดีโอมาแรงแซงทุกสื่อจะรับมืออย่างไร

หลายปีก่อนหน้านี้ช่วงที่ Social Media เริ่มบูมใหม่ ๆ หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วเว็บไซต์จะยังเป็นที่ต้องการ หรือจำเป็นสำหรับธุรกิจอยู่ไหม ซึ่งถึงวันนี้ คำตอบทั้งหมดอาจไขกระจ่างแล้วว่า เว็บไซต์นั้นยังคงจำเป็น และจะยิ่งกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการสร้างธุรกิจในยุคต่อไปด้วย แต่เทรนด์ในการพัฒนาเว็บไซต์ให้เติบโตเห็นผลในปี 2018 นั้น เราอาจต้องฟังความเห็นจากผู้ที่คร่ำหวอดในวงการว่ามองเห็นเทรนด์ใดที่กำลังมา หรือธุรกิจจำเป็นต้องมี

โดยในกิจกรรมเปิดค่าย Young Webmaster Camp (YWC) ครั้งที่ 15 ภายใต้ธีม Digital Innovation ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย, ซีพี ออลล์, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และธนาคารไทยพาณิชย์ มีการระดมผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเว็บไซต์มามากมาย หนึ่งในนั้นคือคุณจันทร์เพ็ญ จันทนา ผู้อำนวยการฝ่าย Social Media & Digital Content ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่มองว่า การสร้างคอนเทนต์ในลักษณะวิดีโอแบบ Long-form และให้คุณค่าต่อผู้ชม จะเป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ในระยะยาว

คุณจันทร์เพ็ญ จันทนา ผู้อำนวยการผู้บริหารสาย Social Media & Digital Content Division ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับคอนซูเมอร์ในบ้านเราในมุมของคุณจันทร์เพ็ญนั้นเป็นเรื่องของการก้าวข้ามขีดจำกัดในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่คอนซูเมอร์ไม่หวงชั่วโมงการใช้งานออินเทอร์เน็ตเหมือนในอดีต กับอีกส่วนคือแพลตฟอร์มที่จะนำคอนเทนต์ไปเผยแพร่ ก็เปิดโอกาสให้กับคอนเทนต์ประเภทคลิปวิดีโอให้ได้รับ Engagement ที่สูงกว่า สองปัจจัยนี้ทำให้คอนเทนต์ประเภทวิดีโอได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ ในด้านพัฒนาการของการทำคอนเทนต์ก็ยังเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยทำอินโฟกราฟิกธรรรมดา พอแชร์แล้วก็จบไป แต่เมื่อทำเป็นวิดีโอ คุณจันทร์เพ็ญระบุว่าคนไม่ได้ดูครั้งเดียว บางทีดูแล้วดูอีก และถ้าทำในลักษณะซีรีย์มีหลายตอน ก็จะเกิดเป็นการรอคอยตอนต่อไป ในจุดนี้ คุณจันทร์เพ็ญให้ทัศนะว่า การทำวิดีโอคอนเทนต์ที่ดี และเป็นเรื่องเป็นราวที่ไม่ได้นานเกินไปและไม่ได้สั้นเกินไปจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

ในประเด็นด้าน Content Marketing นั้น คุณจันทร์เพ็ญก็ได้ให้ทัศนะเอาไว้ว่า แนวทางของการทำ Content Marketing ในยุคนี้ต้องให้อะไรกับคนดูก่อน ไม่สามารถโพสต์เพื่อขายของอย่างเดียวได้อีกแล้ว

“ณ วันนี้คนยอมรับได้ว่ามีการทำมาค้าขายกับคอนเทนต์ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีอะไรสักอย่างให้เค้า เช่น Entertainment value หรือจะให้ข้อคิด แบรนด์ต้องยื่นสิ่งดี ๆ ให้คนอื่นก่อน และการทำเช่นนั้นก็น่าจะเป็นผลดีต่อแบรนด์ในระยะยาวด้วย คือต้องยอมรับว่า การทำคอนเทนต์ไม่ง่าย และใช้เวลา เพราะคอนเทนต์มันเยอะมาก แต่ท่ามกลางกระแสคอนเทนต์มหาศาล ทำยังไงให้คอนเทนต์ของเราหยุดเขาได้ ทำอย่างไรให้งานเรามีความปราณีต มีคุณค่าดูได้นาน ๆ ค่ะ”

Web design ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์

จากเทรนด์การพัฒนาคอนเทนต์ที่คุณจันทร์เพ็ญระบุนั้น ฟากของการออกแบบเว็บไซต์ก็ต้องรับโจทย์นี้มาพิจารณาด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณจักรกฤษณ์ ตาฬวัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี้ด ธีมส์ จำกัด วิทยากรด้าน Web Design ของโครงการฯ เผยว่า เห็นเทรนด์การพัฒนาเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์คอนเทนต์ประเภทวิดีโอมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้ว ด้วยความสนใจของผู้บริโภคในยุคนี้ที่สั้นลง หนึ่งในเทคนิคการออกแบบเว็บไซต์ยุคใหม่จึงต้องพยายามให้ผู้ใช้งานเห็นภาพรวมภายในหน้าเว็บนั้น ๆ ให้ครบทุกส่วนให้เร็วที่สุดก่อน ผลก็คือบทความจากเดิมที่เคยวางเต็มพื้นที่หน้าจอ ก็อาจถูกตัดทอนให้เหลือเพียงบางส่วน แล้วมีปุ่มให้คลิกอ่านต่อหากผู้ใช้งานสนใจที่จะอ่านบทความนั้น ๆ จริง ๆ จะได้นำพื้นที่ส่วนที่เหลือไปแสดงผลคอนเทนต์อื่น ๆ ที่ทางเว็บไซต์อยากให้ผู้ใช้งานได้เห็นเพิ่มมากขึ้น เช่น โฆษณา 

แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่พบได้คือโฆษณาที่เป็นชิ้น ๆ จะหายไป เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เนื่องจากสายตาของผู้ใช้งานเอง เมื่อเข้ามาในเว็บไซต์แล้ว และสังเกตได้ว่าจุดใดบ้างที่แสดงผลโฆษณา ก็จะไม่หันไปมองโฆษณาเหล่านั้นอีก ผลก็คือจะทำให้รูปแบบการโฆษณาจะลงมาแทรกอยู่ในบทความเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อวงการได้เช่นกัน เพราะคนอ่านอาจหลงอ่านไปโดยไม่รู้ว่ามันคือโฆษณาแล้วมารู้ตอนจบก็เสียความรู้สึกกันไป หรือบางคนอาจเกิดความระแวงว่าบทความที่อ่านไปนั้นเป็นโฆษณาหรือเปล่า เป็นต้น

AR – VR ยังไม่ใช่คอนเทนต์มาแรง

สุดท้ายกับเรื่องของ AR – VR ที่หลายคนบอกว่าปี 2018 จะเป็นภาคต่อของปี 2017 ให้ AR – VR โดดเด่นมากขึ้น ในมุมนี้ คุณจักรกฤษณ์ให้ความเห็นว่า “AR – VR เป็นคอนเทนต์ที่ได้รับการผลักดันมานาน แต่ที่ยังไม่เกิดเพราะอุปกรณ์ในมือผู้บริโภคมันไม่เอื้อให้ใช้งานได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังไม่ Interact กับไลฟ์สไตล์ของผู้คนเท่าไรด้วย ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดในปีนี้ก็คือ AR – VR จะถูกใช้เพื่อสร้างกิมมิค หรือสร้างความว้าวต่อไป แต่ยังไม่ใช่เมนสตรีม” คุณจักรกฤษณ์กล่าว

แต่นอกจากเทรนด์ของการพัฒนาเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในยุคนี้แล้ว อีกเทรนด์หนึ่งที่พบจากโครงการ Young Webmaster Camp ก็คือมีนักศึกษาให้ความสนใจเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีล่าสุดมีผู้สมัครเข้ามาถึง 1,111 คน แต่ทางโครงการสามารถรับได้เพียง 80 คนเท่านั้น ซึ่งจากตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า มีเยาวชนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการโอกาสและโครงการดี ๆ ที่จะสามารถส่งเสริมศักยภาพของพวกเขาให้เพิ่มขึ้น พอที่จะเติบโตใน Digital Economy แห่งนี้ได้