Site icon Thumbsup

โซเชียลยังบูม คนไทยใช้เน็ตสูงถึง 10.5 ชม.ต่อวันแล้ว

ETDA ประกาศผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2561 พบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน จากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม GenY ที่ครองแชมป์การใช้โซเชียลสูงที่สุด สิ่งที่น่ากังวลคือคนกลุ่มนี้ยังใช้พาสเวิร์ดที่มีความเสี่ยงอย่างมาก

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเปิดเผยว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ GenY ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุด ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งาน Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip สูงถึง 3.30 ชั่วโมงต่อวัน

ทั้งนี้ ภาพรวมของพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10.5 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ใช้เวลาเฉลี่ย 3.41 ชั่วโมงต่อวัน โดย Gen Y ยังคงครองแชมป์การใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดติดกันเป็นปีที่ 4  เป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านชีวิตไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น    

อย่างไรก็ตาม คนไทยยังคงนิยมใช้โซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook, Instagram, Twitter และ Pantip มีการใช้งานสูงถึง 3.30 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่การรับชมวีดีโอสตรีมมิ่ง อย่างเช่น YouTube หรือ Line TV มีการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.35 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนการใช้แอปพลิเคชันเพื่อพูดคุย เช่น Messenger และ LINE เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชม. ต่อวัน การเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 51  นาทีต่อวัน และการอ่านบทความหรือหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่ 1 ชม. 31 นาทีต่อวัน

เมื่อดูการเปลี่ยนผ่านการใช้ชีวิตประจำวันไปสู่ชีวิตดิจิทัล จะเห็นได้ว่า 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทำกิจกรรมทางออนไลน์มากกว่าแบบดั้งเดิม ได้แก่ การส่งข้อความ 94.5% การจองโรงแรม 89.2% การจอง/ซื้อตั๋วโดยสาร 87.0% การชำระค่าสินค้าและบริการ 82.8% และการดูหนัง/ฟังเพลง 78.5% ตามลำดับ

ปัญหาแฮกข้อมูล

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่ามีหลากหลายกิจกรรมที่คนไทยยังมีความสุ่มเสี่ยงในการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจากพฤติกรรมดังนี้ 

  1. ไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 เดือน มีสัดส่วนถึง 45.34% 
  2. การให้วันเดือนปีเกิดที่แท้จริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มีสัดส่วนอยู่ที่ 45.04%
  3. เมื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเว็บไซต์ธนาคาร ก็ละเลยที่จะสังเกตว่าเป็นเว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย https:// หรือไม่ มีสัดส่วนถึง 44.48% 
  4. เปิดอีเมล/คลิกลิงก์ที่ไม่รู้จัก อยู่ที่ 43.36%
  5. อัปโหลดรูปถ่าย/วิดีโอทันที หลังถ่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อยู่ที่ 35.70%

ปัญหาที่น่ากังวลของแต่ละ Gen

นอกจากนี้ ยังมีการเดินหน้าโครงการ Digital Asia Hub Thailand ที่จะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงทางด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมของเครือข่ายในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึง Digital Asia Hub ในฮ่องกง และ Berkman Klein Centre ที่ Harvard Law School ในรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งในด้านของผู้เชี่ยวชาญ การวิจัย และการอบรมบุคลากร

สำหรับการดำเนินกิจกรรมของ Digital Asia Hub Thailand ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่       

  1. การทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง (Multi-Stakeholder Collaboration) ทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งมีทั้งภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และรัฐบาล ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในประเด็นด้าน Digital Transformation
  2. หลักสูตรการศึกษาโดยจัดกิจกรรมการศึกษาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่มุ่งให้ข้อมูลแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในภาคเอกชนและภาครัฐเกี่ยวกับประเด็น Digital Transformation กฎหมายและทางสังคม รวมถึงการจัดโครงการฝึกงานหรือโครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นในกลุ่มความร่วมมือ
  3. การสนับสนุนด้านการวิจัยซึ่ง Digital Asia Hub Thailand จะมีส่วนร่วมในการวิจัยที่มุ่งเน้นประเด็นการปรับใช้หลักการของ GDPR, Cybersecurity Analytic กับการพัฒนาขีดความสามารถ และประเด็นเทคโนโลยีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือสู่ความพร้อมของธุรกิจไทยในเรื่อง GDPR ของ  13  สมาคม  ได้แก่  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,สมาคมธนาคารไทย,สมาคมการค้าดิจิทัลไทย,สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย),สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,สมาคมไทยบล็อกเชน,สมาคมประกันชีวิตไทย,สมาคมประกันวินาศภัยไทย,สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย,สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย,สมาคมฟินเทคประเทศไทย และสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ