Grab เผยตัวเลขไฮไลต์ปี 67 พร้อมแถลงกลยุทธ์ปี 68 ภายใต้วิสัยทัศน์ “Lead with Purpose” โดยซีอีโอคนใหม่ หลัง วรฉัตร ลักขณาโรจน์ ประกาศลาออกและจะยุติหน้าที่ซีอีโอไทยคนแรกในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ชูความเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคนี้
คุณจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า อ้างอิงข้อมูลจาก Momentum Works แกร็บสามารถขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการให้บริการใน 8 ประเทศ คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย เมียนมาร์ เป็นต้น และมีผู้ใช้งานแบบ Active user 44 ล้านราย ถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งในกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี่และไรด์แชร์ริ่ง
วงจรธุรกิจของ Grab ในปี 2566 ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยสูงถึง 1.79 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สิ่งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นแรงผลักดันให้แกร็บยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีเป้าหมาย
โดยบริษัทได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้คนในประเทศ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยในการเปิดจุดรับ-ส่งในสนามบินหลักทั้ง 4 แห่ง อันได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ รวมทั้งแคมเปญพิเศษต่างๆ ร่วมกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตลอดทั้งปี ความร่วมมือนี้ส่งผลให้มียอดใช้บริการเรียกรถในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตขึ้นถึง 138%
จากการแข่งขันในธุรกิจจัดส่งอาหาร (Delivery) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่าสองผู้เล่นหลักในกลุ่มนี้คือ Grab และ LINEMAN ซึ่งมีตัวเลขห่างกันเพียง 6% จากมูลค่าตลาดทั้งหมด 19.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยปรับตัวใช้บริการเดลิเวอรีในการใช้ชีวิตต่อเนื่องแม้จะผ่านช่วงจุดสูงสุดจากสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้ว ซึ่งการที่สองผู้เล่นมีกลยุทธ์ในการทำตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนไทยใช้บริการมากขึ้น
สำหรับในปี 2568 แกร็บ ประเทศไทย ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้
วิสัยทัศน์ “Lead with Purpose” โดยจะมุ่งเน้นไปที่ 5 แนวทางหลักภายใต้กลยุทธ์ “S.M.A.R.T” ซึ่งประกอบด้วย
- S: Sustainability มุ่งสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- M: Market Expansion ขยายบริการให้เข้าถึงคนทุกเจเนอเรชัน
- A: Affordability นำเสนอทางเลือกของบริการในราคาที่เข้าถึงได้
- R: Retention รักษาฐานลูกค้าและมัดใจคนขับ-พาร์ทเนอร์ร้านค้า
- T: Tech & Innovation พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน
อย่างไรก็ตาม Grab มองว่าขณะนี้สามารถทำตลาดในกลุ่ม Gen Y (29-44) ที่มีอยู่ 23% และ Gen Z (16-28) จากสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ แกร็บสามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้อย่างแข็งแรงแล้ว จึงมุ่งไปที่กลุ่ม baby boomer (61-79) และเจน alpha (1-15) ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์ใช้งานมาจากกลุ่ม Gen Y ที่เคยใช้บริการ Family และต่อยอดไปให้คนในครอบครัวใช้งาน
รวมทั้งเพิ่มเทคโนโลยีด้านความสะดวกสบายอย่างการสแกนคิวอาร์โค้ดกับไรเดอร์ก็สามารถจ่ายค่าบริการต่างๆ ได้ ช่วยลดการสัมผัสเงินสดหรือคนที่นิยมการจ่ายเงินปลายทางแต่ไม่ได้พกเงินสดให้สะดวกสบายขึ้น
หากจัดอันดับที่มีการใช้งานมากที่สุดในแอปตามลำดับ คือ Food Delivery, Mobility, Finance และ B2B และบริษัทยังเชื่อว่าแกร็บยังไปต่อได้ แม้สภาพเศรษฐกิจจะยังเรื่อยๆ แต่เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีไม่ใช่ FMCG ที่ส่งผลในเชิงเศรษฐกิจประเทศมากนัก ธุรกิจของเราไม่ได้มีผลกระทบต่อรายได้ของผู้คน เราเน้นเรื่องของการให้บริการตามความต้องการใช้งานของผู้คนมากกว่า เราเชื่อว่ายังเป็นผู้นำในธุรกิจเดลิเวอรีกับไรด์แชร์ริ่งได้ต่อไปเรื่อยๆ หากเราพัฒนาเทคโนโลยีและเซอร์วิสได้ตามประสบการณ์และความต้องการของลูกค้าต่อไป