Site icon Thumbsup

5 สิ่งที่ทำให้แบรนด์ สูญเสียโอกาสในการขาย

ตอนนี้การจะให้ลูกค้าซื้อครั้งแรกว่ายากแล้ว แต่จะให้ลูกค้ามาซ้ำอีกยิ่งยากกว่าเดิม หลายครั้งการที่ลูกค้าไม่ซื้อซ้ำ อาจเป็นเพราะร้านนั้นมีสินค้าที่ไม่ดีหรือบริการไม่ประทับใจ ซึ่งคุณภาพของสินค้าแต่ละประเภทคงไม่แตกต่างกันมาก แต่เรื่องของบริการเป็นหัวใจสำคัญ หากให้บริการดีแย่ต่างกันลิบลับหรือความไม่สะดวกต่างๆ ย่อมส่งผลต่อชื่อเสียงและความไว้วางใจในการกลับมาซื้อซ้ำแน่นอน วันนี้เราจะมาบอกสิ่งที่ทำให้ร้านค้าหรือแบรนด์สูญเสียโอกาสในการขายกันค่ะ รู้แล้วต้องรีบนำไปปรับเลยน้า

รูดบัตรเครดิตไม่ได้

เรื่องใหญ่ที่ทำให้ลูกค้าเกิดอาการเซ็งสุดๆ เป็นอันดับต้นๆ ในการไม่กลับมาซื้อหรือใช้บริการซ้ำนั่นก็คือร้านที่ไม่รับบัตรเครดิตนี่ล่ะค่ะ ยิ่งมีเงื่อนไขว่าต้องมียอดขั้นต่ำในการซื้อยิ่งไปกันใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่ลูกค้าจะเอาแต้มในบัตรนะคะ แต่สิทธิประโยชน์จากบัตรเครดิตที่ผูกร้านอาหารก็เหมือนยิ่งใช้ยิ่งลดมันหายไป ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ากินที่นี่ไม่ได้คุ้มค่า แถมต้องควักเงินสดด้วย

หรือต้องหาตู้กดเงินให้ยุ่งยากกันไปอีก ซึ่งการรูดบัตรเครดิตควรเป็นพื้นฐานที่ร้านค้าทั่วไปควรจะมีแล้ว ดังนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องดีหากต้องเสียโอกาสการขายซึ่งเรื่องนี้ร้านค้าไม่ควรปล่อยให้เกิดมากค่ะ

 

ไม่มี QR Code 

ปัญหาเบื้องต้นที่หลายร้านไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่บอกเลยนะคะว่ามันทำให้ลูกค้าไม่อยากเข้าร้านนี้อีกได้เลยค่ะ เพราะตอนนี้คนรุ่นใหม่ใช้จ่ายกันแบบไม่จับแบงค์จนเกือบจะเป็นสังคมไร้เงินสดไปแล้ว ยิ่งจ่ายไว โอนหรือรูดสะดวก ยิ่งเป็นการอำนวยความสะดวกที่ได้ใจลูกค้าแบบสุดๆ 

แต่เมื่อใดก็ตามที่ไปเจอร้านค้าที่ไม่มี QR Code ต้องไปวิ่งหาว่าตู้เอทีเอ็มอยู่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ไกลร้านทั้งนั้น หรือต่อให้ใกล้ ทุกอย่างก็ควรจบตั้งแต่เรียกเช็คบิลแล้ว หากไม่อยากเจอปัญหาชักดาบ พอต้องวุ่นวายแบบนี้ ลูกค้าจะรู้สึกทันทีว่าร้านนี้ไม่รู้จักบริการลูกค้า ครั้งหน้าไม่มากินละ ถือว่าเป็นการไล่ลูกค้าทางอ้อมกันไปเลย

 

Service Charge สูงปรี๊ด

ข้อนี้มักจะเกิดกับร้านอาหาร ร้านขนม ที่เป็นตลาดที่โตมากขึ้นเรื่อยๆ ในไทย แต่สิ่งที่จะเกิดคำถามนี้ขึ้นมาตลอดคือ จะคิด Sevice Charge แพงทำไมในเมื่อร้านแทบไม่ได้บริการอะไรเลยด้วยซ้ำ นอกจากเอาอาหารมาให้คือจบแล้ว หรือเผลอๆ ต้องไปหยิบเองด้วยซ้ำ

ประเด็นนี้คิดว่าในอนาคตอันใกล้เป็นดราม่าหนักแน่นอน เพราะจริงๆ ถ้าร้านค้าบริการไม่ดีเราไม่จำเป็นต้องจ่าย Sevice Charge ได้ หรือไม่มีป้ายประกาศบอก ใครที่กินร้านขนมเจ้าดังหรือไก่ทอดเกาหลี ที่คิดแสนโหด ก็ต้องเริ่มคิดกันแล้วนะคะว่าบริการกับเงินที่จ่ายไปมันคุ้มกันจริงๆ หรอ

 

พนักงานไม่สนใจลูกค้า

คำว่าไม่สนใจไม่ได้หมายถึงไม่เดินตามลูกค้านะคะ แต่มันคือการที่พนักงานจับกลุ่มคุยกันเสียงดัง รบกวนลูกค้าเลือกซื้อสินค้าหรือ ยืนเฉยๆ จนลูกค้าไม่สัมผัสได้ถึงการต้อนรับหรือการบริการ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้บ่อยกับร้านเครื่องสำอางค์ และซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

เพราะลูกค้าไม่ชอบเดินเข้าไปใกล้ๆ เพราะลูกค้าจะรู้สึกถูกกดดัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่พนักงานจะเกาะกลุ่มเม้าท์ต่างๆ ได้ แต่นั่นล่ะค่ะถ้าเราชินกับอะไรแบบนี้จุดนี้ก็จะเป็นมาตรฐาน จนตอนนี้ไม่มีพนักงานลูกค้าก็ซื้อของได้สบาย อาจเป็นจุดที่ทำให้ลดพนักงานลงได้หรือป็นช่องโหว่ให้ร้านคู่แข่งสร้าง Service ที่ดีและแย่งลูกค้าในอนาคตอันใกล้ได้แน่นอน

 

ลูกค้าถามเล้วตอบไม่ได้

นี่คือปัญหาโลกแตกที่เกิดจากการที่ร้านค้าไม่คิดจะเทรนข้อมูลสินค้าและไม่สนใจคุณภาพการขายเลย เป็นวิธีการไล่ลูกค้าทางตรงที่ทำให้ลูกค้าหายไปแน่นอน เช่น ร้านขายวิตามินต่างๆ แต่พนักงานไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้เลย หรือจะเป็นร้านขายสินค้าทั่วไป ว่าแบบนี้ต่างกับแบบนี้ยังไงก็ตอบไม่ได้อีก 

ลูกค้าอาจไม่ได้มีข้อมูลมาประกอบเพื่อการตัดสินใจเสมอนะคะ การที่พนักงานให้ข้อมูลหรือชักจูงใจยังคงได้โอกาสในการขายที่ดีเสมอ ดังนั้น ถือเป็นการบ้านของผู้จัดการร้านหรือแบรนด์ที่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ 

ถ้าแบรนด์อยากขายสินค้า โปรดอย่าไล่ลูกค้าด้วยข้อที่กล่าวมาเลยนะคะ เมื่อลูกค้ามาถึงหน้าร้านแล้วมีโอกาสสูงที่เราจะทำให้เป็นลูกค้าประจำ เพราะอย่างที่เคยบอกลูกค้าประจำเยอะจะทำให้รายได้มั่นคงมากกว่าหาลูกค้าขาจร ฉะนั่นสิ่งที่กล่าวมาอย่าลืมนำไปปรับใช้กันดูนะคะ เพราะเป็นความสะดวกเบื้องต้นที่ทุกร้านควรมีเลยล่ะ