Site icon Thumbsup

3 ปัญหาด้านสุขภาพที่มักเจอเมื่อ Work from Home

การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่อีกครั้งในประเทศไทย การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home หรือ WFH) จึงเป็นมาตรการหลักในการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส

แต่การทำงานจากที่บ้านอาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ การศึกษาล่าสุดพบว่า 41.2% ของการ WFH มีอาการปวดหลัง อีก 23.5% มีอาการปวดคอ และมากกว่า 50% ระบุว่าอาการปวดทุกอย่างแย่ลงตั้งแต่เริ่มทำงานที่บ้าน

มารู้จักปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อทำงานที่บ้าน รวมถึงวิธีป้องกันและดูแลตัวเองเบื้องต้นกันครับ

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

แม้จะชื่อว่า ‘ออฟฟิศซินโดรม’ แต่มีโอกาสเป็นมากกว่าเมื่อทำงานจากที่บ้าน โรคดังกล่าวคืออาการปวดกล้ามเนื้อต่างๆ ที่เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น การนั่งทำงานนานเกินไป โดยไม่ปรับเปลี่ยนท่าทาง

ผลที่ตามมาคืออาการปวดกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่แบบเรื้อรัง รวมถึงอาการชาที่แขนและมือ เนื่องจากเส้นสาทถูกกดทับนานเกินไป

วิธีป้องกันเบื้องต้นคือการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม เช่น ปรับโต๊ะและเก้าอี้ทำงานให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย ปรับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา และยืดกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

อาการตาล้า (Eye Strain)

การใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เรารู้สึกว่าตาพร่าหรือปวดหัว ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในโลกการทำงานปัจจุบัน

เมื่อการทำงานทุกอย่างถูกทำให้เป็นระบบออนไลน์ทำให้ต้องจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ประกอบกับอยู่ในห้องแอร์ การกระพริบตาน้อยลงก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้งอีกด้วย

วิธีป้องกันเบื้องต้นคือละสายตาทุกๆ 20-30 นาที ปรับความสว่างของจอให้เหมาะสม กระพริบตาให้บ่อยขึ้น นอกจากนี้การสวมแว่นตากรองแสงสีฟ้าก็ช่วยลดแสงเข้าดวงตา ทำให้รู้สึกสบายตาได้อีกด้วย

ปัญหาสุขภาพจิต (Mental Health)

สภาพแวดล้อมของทุกคนไม่ได้เอื้อต่อการทำงานที่บ้าน ปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่ที่พบคือชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้นและไม่สามารถแบ่งแยกเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันได้ ทำให้นาฬิกาชีวิตรวน กินข้าวข้ามมื้อ นอนดึก ตื่นสายมาทำงานทันที

นอกจากนี้การทำงานอยู่ในห้องคนเดียว ก็ไม่เหมือนกับการทำงานที่ออฟฟิศซึ่งสามารถหันไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานได้ การติดต่อสื่อสารน้อยลงก็เป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อปัญหาสุขภาพจิต

วิธีดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้นคือการกำหนดตารางเวลาให้เป็นสัดส่วน เข้มงวดกับตัวเองให้มากขึ้น นอนให้ตรงเวลา ตื่นมาทำกิจวัตรประจำวันก่อนค่อยไปนั่งทำงาน รวมถึงการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ ก็ช่วยลดความรู้สึกเหงาและเดียวดายได้เป็นอย่างดี

ที่มา

verywellhealth

safetyrisk