เลือก Purpose ก่อนเลือก Platform
อย่างไรก็ตาม ทุกแพลตฟอร์มต่างก็มีเสน่ห์ต่างกัน และความสามารถในการเข้าถึงผู้ใช้งานก็ต่างกัน เช่น TikTok คนเข้ามาดูคลิปสั้นเพื่อคลายเครียด Clubhouse คนเข้ามาฟังเพื่อถกความรู้ Instagram คนเข้ามาเพื่อดูรูปสวยๆ และ Spotify คนเข้ามาฟังเพลง ซึ่งแต่ละความสามารถนั้น นักการตลาดต้องมองให้ลึกว่าสินค้าแบบไหนถึงจะเหมาะ เพราะไม่ใช่ทุกสินค้าจะเหมาะกับคนเล่นทุกคน
“อย่าง Twitter เนี่ย ภาพที่นักการตลาดยุคเก่ามองเข้ามาจะเข้าใจว่าผู้ใช้งานคือเด็กวัยรุ่น แต่ที่จริงแล้วผู้เล่นทวิตเตอร์จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงผู้บริหารเลย เพราะคนเหล่านี้โตตามยุคสมัยและยังใช้งานกันต่อเนื่องเพื่อสื่อสารส่วนตัวหรือตอบโต้ผ่านแบรนด์ นักการตลาดจึงต้องหาความเหมาะสมและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของยุคให้มากขึ้นด้วย”
จากพฤติกรรมการใช้เวลาบริโภคสื่อโซเชียลมีเดียของคนยุค Gen Y และ Gen Z จะพบว่า ตัวเลขชั่วโมงในการใช้งานเพิ่มขึ้นทุกแพลตฟอร์ม เพราะโลกออนไลน์ผสมผสานกับการใช้ชีวิตไปแล้ว
“การทำแคมเปญบนโลกออนไลน์ยุคนี้ จะใช้เงินอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะแบรนด์ลดการใช้จ่ายและอีกส่วนหนึ่งคือผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเก่งขึ้น คือรู้ทันคอนเทนต์ยุคใหม่ว่าแบบไหนจ่ายเงิน แบบไหนเขียนเองจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดนะคะ เพราะถ้าสินค้าดีจริง เขาก็ยอมรับได้ เข้าไปอ่านและซื้อตามด้วยซ้ำ แกนหลักคือเนื้อหาคอนเทนต์ต้องดีและโดนใจคนอ่าน”
นอกจากนี้ การตามหาลูกค้าที่เหมาะกับสินค้าของเราก็ไม่ได้วัดที่การ engage อย่างกดไลค์ กดแชร์ แล้ว แต่ต้องมองหาให้ลึกกว่านั้น ว่าลูกค้ามี comment เกี่ยวกับแบรนด์เราอย่างไร หรือดู social listening มากกว่าแค่ matrix บน dashboard ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการฟัง social listening นั้นก็ต้องมีความเป็นกลางและใช้ให้หลากหลายด้วย เพราะคนคอมเม้นบนแพลตฟอร์ม วาระและสถานการณ์มักต่างกัน
ทั้งนี้ การทำคอนเทนต์แบบเกาะกระแสก็ต้องวางแผนให้มาก เพราะบางกระแสบนทวิตเตอร์หรือกระแสสังคมนั้น ถ้าไม่ใช่ตัวตนของแบรนด์แล้วเราแค่ไปเกาะกระแส อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ทำมายาวนานได้ และไม่ใช่ทุกกระแสที่เราเข้าไปเล่นแล้วผู้บริโภคจะชอบเสมอไป ซึ่งกระแสไหนถ้าเล่นไปแล้ว “กระแสตีกลับ” สิ่งที่ควรเร่งทำคือออกมารับผิดชอบอย่างจริงใจ เพราะผู้บริโภคยอมรับได้กับแบรนด์ที่แสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจมากกว่าแบรนด์ที่นิ่งเฉย
อย่างไรก็ตาม นักการตลาดยุคนี้ก็ยังคงเลือกใช้แพลตฟอร์มตามกระแสมากกว่าตามผู้บริโภคอาจเพราะเราไม่ได้เป็นผู้ผลิตแพลตฟอร์มเอง ความเข้าใจในฟีเจอร์คืออยากทดลองให้หมด อันไหนได้ผลก็ใช้ต่อ อันไหนไม่เกิดยอดขายก็เปลี่ยน ซึ่งสินค้ากลุ่ม FMCG และความสวยความงามนั้น จะเลือกใช้กลยุทธ์แบบนี้กันเยอะ ซึ่งก็ไม่ผิดหากมีข้อมูลหลังบ้านในมือว่าลูกค้าของคุณชอบกลยุทธ์นี้
ทั้งนี้ อยากแนะนำให้นักการตลาดมองลูกค้าเหมือนมองตัวเอง คือ ขนาดเรายังใช้งานทุกแอปเลย เวลาคิดแคมเปญหรือโปรโมชั่นอะไรก็อยากให้คิดก่อนว่าถ้าเราเป็นลูกค้าจะชอบแคมเปญนี้ไหม หรือจะกดซื้อไหมถ้าขึ้นฟีดมา ถ้าแม้แต่เราเองยังไม่อยากได้ลูกค้าก็คงไม่ต่างกัน แต่ละแพลตฟอร์มมีข้อดีต่างกัน ดังนั้นจุดประสงค์ในการเลือกใช้แพลตฟอร์มจึงควรต่างกัน แม้จะมีแอปใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก็ไม่ควรทิ้งช่องทางเดิม นักการตลาดที่ดีควรรู้จักใช้งานทุกแพลตฟอร์ม แต่ไม่ควรใช้ครีเอทีฟคอนเทนต์เดียวกันทุกแพลตฟอร์ม