สนใจสั่งซื้อ’ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว’ คลิกเลย
‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ หรือที่ใครๆ เรียกว่า “เจ้าสัวซีพี (CP)” ปัจจุบันแม้จะอายุ 80 ปีแล้ว และผ่องถ่ายตำแหน่งให้ลูกๆ บางคน อย่าง สุภกิต เจียรวนนท์, ณรงค์ เจียรวนนท์ และศุภชัย เจียรวนนท์ รวมถึงคนรู้จักอื่นๆ ไปแล้ว แต่ก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) แล้วก็ตาม
แต่วันนี้ใครหลายคนก็คงอยากรู้ถึงมุมมอง ความคิด และวิธีการบริหารของเขา เพราะเขาถือเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 1 ของประเทศไทยจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2561 ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนได้จัดเวที “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” Exclusive Talk สัมภาษณ์โดย ‘หนุ่มเมืองจันท์’ สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและนักคิดชื่อดัง ที่มีผลงานให้กับเครือมติชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งเวทีดังกล่าวมีชื่อตรงกับหนังสือใหม่ของธนินท์ นั่นคือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ที่เพิ่งออกมานั่นเอง
รายละเอียดของการเสวนาเป็นอย่างไร ติดตามรายละเอียดได้จากบทความนี้เลยครับ
เสี่ยงได้แต่ต้องไม่ล้มละลาย และคิดรับมือทั้งช่วงขาขึ้น-ขาลง
ข้อความหนึ่งในหนังสือใหม่ ธนินท์บอกว่า “เสี่ยง 30 ชนะ 70 ถ้าความเสี่ยงไม่ทำให้ล้มละลาย พร้อมจะเสี่ยง” เขาขยายความว่าการทำธุรกิจที่ไม่ความเสี่ยงเลย เป็นเรื่องไม่จริง “แต่เราต้องเสี่ยง” ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต้องแก้ตลอด แต่เมื่อเจ้าของธุรกิจเห็นแนวทางนี้ถูกต้อง และเป้าหมายเราชัดแล้ว ก็พร้อมไปต่อ
“ใครบอกธุรกิจไม่มีวันเสี่ยง ก็อย่าทำฮะ” ธนินท์ กล่าว
แต่ถึงอย่างไรก็ตามประธานอาวุโส CP ก็ย้ำอีกว่าแม้จะมีความเสี่ยง 10 แต่ผลที่ออกมาไม่คุ้ม เขาก็ไม่เอา ฉะนั้น เสี่ยง 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วได้ 70 เปอร์เซ็นต์ เขาก็พร้อมลงทุน แต่ถ้าอัตราเป็นเสี่ยง 50 ได้ 50 ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะนี่คือการเล่นการพนันต้องระวังตรงนี้ด้วย เพราะบริษัทใหญ่มีโอกาสล้มละลายได้ “เสี่ยงแล้ว แต่เราต้องไม่หมดหน้าตัก”
แม้จะเลือกการทำธุรกิจแบบระมัดระวังแล้ว แต่ธนินท์ก็ยอมรับว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อ 2 กรกฎาคม 2540 เกิดการลอยตัวค่าเงินบาท แต่หนี้ที่กู้จากต่างประเทศมีมูลค่าสูงขึ้นเป็นทวีคูณ โดยสัญญากู้เงินที่ทำกับธนาคารต่างประเทศ ระบุชัดเจนว่าเมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารฯ มีสิทธิ์จะโยกเอาทรัพย์สินกลับทันที เพราะสัญญาระบุไว้ชัดเจน ซึ่งธนาคารไทยอาจจะยอมผ่อนปรน แต่ธนาคารต่างประเทศไม่ยอมแบบไทย
ธนินท์บอกว่าวิกฤตครั้งนั้น ทำให้เขารู้สึก “มืดแปดด้าน” ไปช่วงเวลาหนึ่งเลย
แน่นอนวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ส่งผลให้บริษัทในเครือบางบริษัทมีหนี้สูงขึ้นในระดับร้ายแรง ทำให้เขาถึงกับบอกในหนังสือว่าต้องตัดสินใจอยู่ดูธุรกิจต่อ แม้จะตั้งใจเกษียณอายุการทำงานในช่วงก่อนปี 2540 แล้วก็ตาม
ในเวทีนี้ เขาเล่าว่า 3 สิ่งสำคัญที่ทำให้ธนินทกลับมาฟิ้นตัวได้ไวมี 3 ข้อ คือ (1) ต้องเจรจากับพี่น้อง และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน (2) ขายธุรกิจที่สร้างเสร็จขึ้นมาก่อน (3) คิดหาวิธีขยายธุรกิจเพื่อหาเงิน เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว
ซึ่งธนินท์เล่าต่อว่าตอนวิกฤต เราทุกอย่างไม่ได้ ต้องทิ้งบางอย่าง อันไหนสำคัญรักษาไว้ จึงได้บทเรียนจากการทำธุรกิจมาว่าเวลาทำธุรกิจอะไร ต้องทำธุรกิจที่โลกยอมรับ และเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เพราะพอเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ถ้าธุรกิจที่เราทำไม่ดีจริง ไม่สำคัญจริง ต่อให้ยกให้ฟรี ก็ไม่มีใครไม่เอาธุรกิจของคุณเลย
เวลานั้น เขาตัดสินใจขายธุรกิจเทสโก้โลตัสและแม็คโคร (จากนั้นก็ซื้อกลับมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา) แต่ไม่ขายธุรกิจโทรศัพท์ TelecomAsia (ปัจจุบันชื่อ True) และ 7-Eleven ซึ่งเป็นกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของเครือ CP จนถึงทุกวันนี้
“ตอนที่ดีที่สุด ตอนที่เรารุ่งเรื่องที่สุด เราต้องคิดตลอดเวลาแล้วว่า ถ้าเกิดมันมืดลงมาล่ะหรือเกิดวิกฤตมา เรารับไหวไหม เราต้องทำการบ้านแล้วนะ อย่าเหลิง … แล้วตอนที่วิกฤตที่มืดที่สุด พวกคุณอย่าท้อใจ แสงสว่างจะมาแล้ว ผ่านวิกฤตครั้งนี้ต้องคิดแล้วว่า ถ้าหลังจากวิกฤตแล้ว มีโอกาสอะไร เราต้องเตรียมแล้วนะ”
— ธนินท์ เจียรวนนท์
“ที่สำคัญต้องชีวิตเอาให้รอด แล้วเราจะมีโอกาสคืน มีประสบการณ์ มีความรู้ เสียค่าเล่าเรียนแล้ว ถ้าตายไปไม่มีอะไร เอาคืนไม่ได้แล้ว” ธนินท์ ย้ำทิ้งท้าย หลังจากเล่าช่วงชีวิตที่ผ่านจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 มาได้
‘สตาร์ทอัพ’ คีย์เวิร์ดสำคัญที่ธนินท์ย้ำบ่อย
ในระหว่างการเสวนา ผู้ฟังพบว่าคีย์เวิร์ดหลักหรือ Buzzword ที่ธนินท์พูดบ่อย คือคำว่า ‘สตาร์ทอัพ’
ข้อความหนึ่งในหนังสือใหม่ ธนินท์บอกว่า “เสี่ยง 30 ชนะ 70 ถ้าความเสี่ยงไม่ทำให้ล้มละลาย พร้อมจะเสี่ยง” เขาขยายความว่าการทำธุรกิจที่ไม่ความเสี่ยงเลย เป็นเรื่องไม่จริง “แต่เราต้องเสี่ยง” สตาร์ทอัพเหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต้องแก้ตลอด
“สตาร์ทอัพเป็นของใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ แต่ถ้าสำเร็จก็ยิ่งใหญ่แล้วก็ยิ่งใหญ่ และมีโอกาสสำเร็จสูงด้วยนะ ในยุคสมัยนี้เป็นยุคเปลี่ยนแปลง” ธนินท์ กล่าว
“ถ้าใครเป็นผู้นำ ตัวเองจะต้องอยู่ที่รอง แม้ว่าตัวเองทำธุรกิจส่วนตัวของตัวเอง คุณก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อบริษัทที่ตั้งขึ้นมา แล้วก็เพื่อพนักงาน พนักงานต้องมาก่อนคุณอีก เพราะถ้าไม่มีเพื่อนร่วมงานช่วยทำ คุณคนเดียวจะสำเร็จได้อย่างไร สตาร์ทอัพก็เหมือนกัน”
— ธนินท์ เจียรวนนท์
จากนั้นก็กล่าวเปรียบเทียบบริษัทของเขาว่า “วันนี้ CP กำลังทำตัวให้เหมือนสตาร์ทอัพ แต่ดีกว่าสตาร์ทอัพหน่อยตรงที่ว่า ขาดทุนแล้วแรงกดดันน้อยหน่อย ขาดทุนบริษัทจ่ายให้ แต่ต้องรู้กำไรขาดทุนทุกวัน”
นอกจากนี้ยังมองว่าเรียนมหาวิทยาลัยในระยัเวลา 4 ปีมากแล้ว หลังจากนี้ควรเปลี่ยนเป็นการ “ทำงานไป เรียนไป” ดีกว่า หาความรู้จากการปฏิบัติดีกว่า ซึ่งการเรียนเคสธุรกิจเทียบของจริงไม่ได้เลย
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้บริหาร Alibaba ในแง่ของการทำธุรกิจอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในเวลานั้นเขาฟังที่แจ็ค หม่า เมื่อหลายสิบปีก่อนพูดก็ยังไม่เข้าใจคอนเซปต์นัก แต่ก็เชื่อว่าเป็นเทรนด์ที่จะมาแน่
“จริงๆ ต้องทำไป แก้ไป เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาไปแบบสตาร์ทอัพ ซึ่งไม่มีตำรา เช่น แบบแจ็ค หม่า” ธนินท์ กล่าว
ลักษณะผู้นำที่ดีในมุมของธนินท์
1. ต้องให้พนักงานลงมือทำ
ธนินท์ระบุว่า CP ยึดหลัก 3 ประโยชน์ นั่นคือประโยชน์เพื่อชาติ ประโยชน์เพื่อประชาชน และประโยชน์บริษัท และเมื่อเจาะลงไปในประโยชน์ของบริษัท จะเป็นดังนี้
- ยึดผลประโยชน์ “บริษัท” เป็นลำดับที่ 1
- ยึดผลประโยชน์ “พนักงาน” เป็นลำดับที่ 2
- ยึดผลประโยชน์ “ตัวเอง” (ซึ่งเป็นผู้นำ) เป็นลำดับที่ 3
เขามองว่าการให้พนักงานได้คิดเองและทำเอง ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความน่ากลัวคือการไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังทำผิดอะไรอยู่ ดังนั้นผู้บริหารมีหน้าที่เพียงให้ข้อเสนอแนะ ข้อชี้แนะ “ไม่ใช่ข้อชี้นำ”
“ตัวผู้นำต้องใส่วิญญาณให้กับบริษัท บริษัทถึงจะมีวิญญาณ ถ้าเขาเห็นแก่ตัว บริษัทล้มละลายแน่” ธนินท์ กล่าว
2. ทำด้วยความรวดเร็ว และมีคุณภาพ
เขาย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอบยู่บ่อยครั้งในระหว่างการเสวนา นอกจากการใคร “ทำก่อนได้เปรียบ” แล้ว เขายังมองว่าการทำธุรกิจด้วย “ความรวดเร็วและมีคุณภาพ” และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก จะช่วยให้ธุรกิจอยู่ได้ในระยะยาว
ซึ่งธนินท์ยังมองเทรนด์หลังจากนี้ต่อไปว่า มนุษย์มีเวลามากขึ้น จากเทคโนโลยีที่ทำงานให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนี้มนุษย์ก็จะสามารถทำงานได้ในปริมาณมากขึ้น ชิ้นงานใหญ่มากขึ้น และมีความซับซ้อนมากขึ้น
3. ยอมรับนวัตกรรมใหม่ ๆ และเคารพคนรุ่นใหม่
ธนินท์ระบุว่าเขาไม่เคยมองว่าคนรุ่นใหม่มีความด้อยกว่า เพราะคนรุ่นใหม่ไปเจอของจริงใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ มา ผู้นำต้องหาจุดเด่นของพนักงานรุ่นใหม่-คนรุ่นใหม่ และต้องให้ความจริงใจ รวมถึงให้ความเคารพรุ่นใหม่ แล้วเราก็จะได้เคารพจากคนรุ่นใหม่มา เพราะธนินท์ก็เคยเป็นเถ้าแก่ขนาดเล็กมาก่อน
ข้อดีสำคัญของคนรุ่นใหม่ คือ นำมาสอนได้ง่ายกว่า เพราะคนทำของใหม่ ไม่ต้องเสียเวลาในการพัฒนาความรู้ ซึ่งถ้าเรานำคนที่รู้ลึกและมีประสบการณ์มาเปลี่ยนนั้นมันเป็นเรื่องยาก เพราะพอคนเก่งทำเรื่องใหม่ เขาก็คือคนที่เริ่มนับหนึ่งใหม่เช่นกัน
“เรื่องใหม่ ต้องใช้คนใหม่ทำ” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าว “เพราะคนเก่ายึดติดความเคยชินเดิม”
นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ลูกวัวไม่กลัวเสือ” ที่ธนินท์กล่าวไว้ในหนังสือของเขา และให้เวลาในบั้นปลายชีวิตกับ “สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการ ” ที่ตั้งอยู่ในเขาใหญ่
เขามองว่า ถ้าสร้างคนเก่งๆ ได้ บริษัทจะสร้างเงินได้อีกจำนวนมาก เทียบกับสินค้าที่ผลิตซึ่งมีแค่ราคาตายตัวอยู่จำหนวนหนึ่งเท่านั้น
4. ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ธนินท์ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก เขาว่าการทำอาหารคนก็ต้องปรับให้ทันกับโลกที่เปลี่ยน เช่นตอนนี้ คนสนใจอาหารสุขภาพ ทาง CP สนใจ Biotech มากขึ้น เริ่มศึกษาการผลิตเนื้อเทียมจากถั่ว ตั้งทีมวิจัยด้านการพัฒนาอาหารตรงนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับการกำเนิดของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับให้ในธุรกิจตัวเองต่อไป
ผู้ดำเนินเวทีเสวนาสรุปว่า ธนินท์นั้นมีวิธีคิดปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดนั่นเอง
5. ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
คนฉลาดจะทำเรื่องที่ยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะปกติเราไม่ค่อยชอบทำเรื่องยากๆ กันอยู่แล้ว แต่ถ้าแก้ปัญหาเรื่องยากแล้วยังไม่ง่ายขึ้น เราก็ไม่ควรทำต่อไปแล้วเช่นกัน
แม้ธนินท์จะก้าวเข้าสู่วัย 80 ปีแล้ว เขายังคงมองว่าการทำงานเหมือนการเที่ยว เป็นการท้าทายตัวเอง และมองว่า “อุปสรรคเป็นอาหาร 3 มื้อ” และอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ
ทำไมความสำเร็จดีใจได้แค่วันเดียว?
ธนินท์มองว่า ความสำเร็จดีใจได้แค่วันเดียว ปกติไม่ฉลองเลย เพราะพอประสบความสำเร็จก็จะมีปัญหาตามมา เราต้องเตรียมตัวเพื่อแก้ปัญหาต่อ คู่แข่งอาจจะเหนือกว่าเรา ดังนั้นเราต้องสร้างตัวเราให้เข้มแข็ง และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หลังจากนั้น สรกลก็เชิญ ‘สิทธิชัย หยุ่น’ ผู้สัมภาษณ์ธนินท์เป็นคนแรกๆ ในไทย ขึ้นมาเล่าถึงตัวตนที่ได้พบจากการสัมภาษณ์-พูดคุยในหลายๆ ครั้ง จากนั้นสุทธิชัยถามทิ้งท้ายว่า “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว ล้มเหลวเสียใจได้กี่วันครับ?”
ธนินท์ตอบคำถามดังกล่าวว่า “ล้มเหลวก็ควรวันเดียว กลุ้มใจไม่มีประโยชน์ ไปทบทวนเพื่อให้เป็นบทเรียน ม่มีใครสำเร็จทุกเรื่อง ทำมากเรื่องก็ต้องมีพลาด ไม่พลาดเลยก็เป็นเทวดา ไม่งั้นก็เป็นคนไม่ทำอะไรเลย”
“ล้มเหลวได้ แต่อย่าล้มละลายก็แล้วกัน” กล่าวติดตลก เรียกเสียงหัวเราะจากห้องประชุมได้พอสมควร
พูดถึงเรื่องผูกขาด, เศรษฐกิจ, การลงทุน และธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ
ช่วงหนึ่งสรกลถามถึงสถานการณ์เศรษฐกิจว่า “ตอนนี้มันมืดหรือยังครับ” ธนินท์ตอบกลับว่า “อยู่ที่บ่าย 3-4” เพราะก่อนหน้านี้ธนินท์เปรียบว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นั้นมืดเหมือนช่วงเวลากลางคืน
เขามองว่าสงครามทางการค้าซึ่งเป็นปัญหาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับจีนนั้น ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก แต่ถ้าไทยไม่ฉวยโอกาสตรงนี้ นักลงทุนก็หนีไปประเทศเวียดนามหรืออินโดนีเซีย ซึ่งอาจใช้เวลามากกว่า 10 ปีเพื่อดึงนักลงทุนกลับ
“ตรงนี้เรากำลังถดถอย วันนี้เรากำลังถดถอยนะ” ธนินท์ยอมรับถึงสภาพเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในขาลง
ต่อมาเขามองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจของเรา 70 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น โดยมีการเซ็นสัญญายกเว้นภาษีนำเข้า-ส่งออกหลายรายการ แต่ไม่มีการยกเว้นภาษีสินค้าเกษตร ซึ่งเราต้องปกป้องให้ราคาดี เพราะเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ และเพื่อช่วยเกษตรกร
“เกษตรเป็นน้ำมันบนดิน เกษตรเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ แต่เรายังละเลยสินค้าเกษตร นึกว่าจำนวนสินค้าเกษตรมีจำนวนไม่มาก ความจริงมีมากมายเหลือเกิน ไปคิดว่ามองว่าอ้อยผ่านโรงงานกลายเป็นอุตสาหกรรม ความจริงเป็นเกษตร” ธนินท์ เตือน
ช่วงหนึ่งธนินท์ก็พูดถึงข้อกล่าวหาที่เครือ CP เจอมาตลอดนั่นคือ “เรื่องการผูกขาดในตลาด” โดยเขาระบุว่าเป็นมาจากการเห็นโอกาสแล้วทำก่อนคนอื่น โดยเฉพาะในสิ่งที่คนมองว่ายาก เหมือน “ขึ้นเวทีคนเดียว ตื่นขึ้นมาก็เป็นแชมป์ เพราะเราไม่มีคู่ต่อย” และพอทำสำเร็จก็มีคนตามยาก
“CP ถึงถูกมองว่าผูกขาด พวกคุณต้องเข้าใจนะ เราผูกขาดที่ไหน แต่เราทำก่อน เกษตรเอย เซเว่นเอย” ธนินท์พูดขึ้นในช่วงหนึ่งของการพูดถึงคุณสมบัติผู้นำ ระหว่างพูดถึงคนเก่งที่ไม่ทำเรื่องยาก
ต่อมาธนินท์พูดถึงเรื่อง “รถไฟฟ้าความเร็วสูง” โดยยอมรับว่าการเข้าสู่การทำธุรกิจนี้มีความเสี่ยง แต่ก็มองว่า “มีโอกาสสำเร็จถ้ารัฐบาลเข้าใจ”
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลแท้ๆ เรื่องเศรษฐกิจแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องของประชาชน เขาตั้งชื่อ(โครงการ)ว่า PPP เนี่ย คือรัฐร่วมกับเอกชน แล้วก็เอาจุดเด่นของเอกชนมาบวก ลบกับจุดอ่อนของรัฐบาล มันถึงเกิด PPP เกิดขึ้น” ธนินท์อธิบายลักษณะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในจีน
พร้อมตำหนิถึง TOR ที่ไม่ได้เขียนให้รัฐบาลเข้าร่วมผิดชอบด้วย เพราะการมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะทำให้คนเดินทางได้รวดเร็วขึ้นในอนาคต ประกอบกับความล่าช้าในการสร้าง EEC จะทำให้นักลงทุนหนีไปยังอินโดนีเซียที่มีประชากร 300 ล้านคน และเวียดนามซึ่งมีจำนวนประชากร 100 ล้านคน
เขามองว่าทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูง และ EEC เรื่องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ
รวมถึงมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ถึงจุดเปลี่ยนแปลงแล้ว ธนินท์ระบุว่ามีกำลังการผลิตรถยนต์สูงสุดในเอเชีย แต่วันนี้รถยนตไฟฟ้ากำลังมา แต่ถ้ารัฐบาลยังไม่มองเห็นเรื่องนี้ ต่างชาติก็อาจจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นเช่นกัน ไทยต้องมีมาตรการจูงใจ รัฐบาลต้องรีบทำ และมองให้เห็น
“ผมมองว่ารัฐบาลยังมองไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ ปิโตรเคมีก็จะหายไป พวกอิเล็กทรอนิกส์ก็เริ่มย้ายฐานเหมือนกัน” ธนินท์ กล่าวเตือนรัฐบาล
นอกจากนี้เมื่อธนินท์ถูกถามว่า ธุรกิจในลักษณะไหนจะเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในอนาคต ธนินท์ยอมรับว่าธุรกิจรับส่งสินค้า หรือเหล่า Delivery Service มีลักษณะเป็น “ธุรกิจตัวเบา” ผู้ทำธุรกิจเป็นแค่ตัวกลาง ไม่ต้องลงทุนเยอะ หรือใช้เงินลงทุนเยอะ และช่วยให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อต่างๆ รวมถึงช่วยให้ธุรกิจ 7-Eleven เกิดความได้เปรียบได้อยู่ เนื่องจากคนไทยก็จะต้องการใช้บริการร้านสะดวกซื้อต่อไป หากไม่มีร้านสะดวกซื้อ บริการดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของชีวิตมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเมืองไทย ที่ไม่ว่าคุณจะรัก หรือไม่รักเขา ก็คงต้องลองกะเทาะสิ่งที่เขาพูดออกมาในช่วงบั้นปลายชีวิตนี้กันดู เพื่อหาคำตอบในหลายๆ แง่มุมกันต่อไป