GET (เก็ท) ผู้ให้บริการแบบออนดีมานด์เพื่อไลฟสไตล์คนเมืองและแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เติบโตเร็วที่สุดในกรุงเทพฯ ฉลองการให้บริการครบรอบ 1 ปี และการตอบรับเป็นอย่างดีจากคนกรุงเทพฯ ด้วยจำนวนดาวน์โหลดของแอพพลิเคชั่นที่สูงกว่า 2.2 ล้านครั้ง รวมถึงจำนวนคนขับในระบบที่เติบโตขึ้นถึง 4 เท่า จาก 10,000 เป็น 40,000 คน ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ปัจจุบัน บริการส่งอาหารจากแพลตฟอร์มสู่ลูกค้าได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในไลฟสไตล์ของคนเมือง และเริ่มเข้ามาทดแทนบริการแบบเดิมเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารทางโทรศัพท์หรือรูปแบบการซื้ออาหารทางไดรฟ์ทรู (Drive-Through) โดยคาดการณ์ว่าตลาดการสั่งอาหารออนไลน์ปีนี้จะโตถึง 31%
กลยุทธ์ปีนี้
- การพัฒนานวัตกรรมบริการเพื่อผู้ใช้บริการ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการเป็น “แอพพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่เพื่อทุกความต้องการ” GET จะนำเสนอบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดเซอร์วิสใหม่ๆ อย่าง GET RUNNER (เก็ท รันเนอร์) ที่สามารถช่วยลดเวลาการส่งอาหารลงได้อย่างมาก นอกจากนั้น GET พร้อมนำเสนอฟีเจอร์ เมนูและทางเลือกใหม่ๆ ที่ได้รับการออกแบบมาให้เหมาะกับผู้ใช้บริการแต่ละคนและแต่ละกลุ่มในกรุงเทพฯ อย่างลงตัว
- สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จากร้านอาหารในระบบกว่า 20,000 ร้านค้าบนแพลตฟอร์ม กว่า 80% เป็น ธุรกิจประเภทเอสเอ็มอี โดย GET คาดว่าจะเพิ่มจำนวนร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กเป็น 90% ในปีนี้ เพราะธุรกิจประเภทนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอาหารในหลากหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย GET มีแผนที่จะนำเสนอบริการใหม่ๆ ในเร็วๆ นี้เพื่อช่วยให้ร้านค้าสามารถเติบโตและบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET กล่าวว่า “ปีที่ผ่านถือเป็นการเดินทางที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับเรา ทุกคนที่ GET ต่างภูมิใจและรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมากที่ทั้งผู้ใช้บริการ ร้านอาหาร และคนขับ ได้ไว้วางใจและเลือกใช้บริการของเรา ได้ให้เราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน โอกาสในการเติบโตและขยายธุรกิจนี้ยังเปิดกว้างสำหรับ GET แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด ก็คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับสังคม การช่วยให้พาร์ทเนอร์ของเราประสบความสำเร็จ และการมอบสิ่งดีๆ ให้กับผู้ใช้บริการ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เรายึดถือในการทำงานของพวกเราที่ GET อยู่เสมอไม่มีวันเปลี่ยน”
GET เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ด้วย 3 บริการหลัก ได้แก่ GET WIN (เก็ทวิน) บริการเรียกรถจักรยานยนต์ GET FOOD (เก็ทฟู้ด) บริการส่งอาหาร และ GET DELIVERY (เก็ท เดลิเวอรี่) บริการรับ-ส่งพัสดุ หลังจากนั้น GET ได้เปิดทดลองให้บริการ GET PAY (เก็ทเพย์) บริการดิจิตัลเพย์เมนต์ ในเดือนเมษายน 2562 เพื่อช่วยให้ประสบการณ์ในการใช้บริการของลูกค้าดียิ่งขึ้น
แค่เพียง 3 เดือนหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการ GET ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำแอพพลิเคชั่นส่งอาหารในกรุงเทพฯ และผ่านมาแค่เพียง 8 เดือน ก็ได้ฉลองเที่ยวการเดินทางครบรอบ 10 ล้านเที่ยว นอกจากนั้น GET ยังได้สร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนกว่า 60,000 คนตั้งแต่เริ่มเปิดตัวมา
แอนดรูว์ ลี ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ Gojek (โกเจ็ก) กล่าวว่า “GET เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจฟู้ดของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน Gojek ถือเป็นแอพพลิเคชั่นให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในด้านจำนวนออเดอร์ แต่โอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ยังมีอีกมาก รวมถึงในธุรกิจอื่นๆ ที่ Gojek เป็นผู้นำอยู่ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านบริการทางการเงินและบริการเพย์เมนต์ เรายินดีและตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะได้นำเสนอบริการต่างๆ ที่หลากหลายของ Gojek ให้กับกลุ่มผู้ใช้ที่กว้างมากยิ่งขึ้น”
ชานมไข่มุกยังเป็นท็อปเมนู
นอกจากนั้น ยังเผยประเภทอาหารที่ขายดีที่สุดในแอพพลิเคชั่นตลอดปี 2562 ซึ่ง “ชานมไข่มุก” ถือเป็นอาหารยอดนิยมที่มียอดการสั่งซื้อกว่า 10 ล้านครั้ง ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 เดือน อาหารขายดีอันดับสองได้แก่ ข้าวหมูทอด ตามมาด้วย ขนมปัง โจ๊ก อาหารญี่ปุ่น ติ่มซำ ไก่ทอด/ไก่ย่าง กาแฟ ข้าวมันไก่ และก๋วยเตี๋ยว โดยสังเกตได้ว่าอาหารยอดนิยมส่วนใหญ่ จะเป็นเครื่องดื่มและอาหารประเภทสตรีทฟู้ดเป็นหลัก
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ GET
- ธุรกิจอาหารของ Gojek มีออเดอร์ถึง 50 ล้านออเดอร์/เดือน ซึ่งนับรวม 3 ประเทศ ไมว่าจะเป็น Gojek ในอินโดนีเซีย Go-Viet ในเวียดนาม และ GET ในประเทศไทย ซึ่งนั่นแสดงถึงความสำคัญของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ Gojek เป็นที่รู้จักในฐานะแอพพลิเคชั่นสำหรับการเรียกรถและส่งของแต่เพียงอย่างเดียว และ Gojek เองมั่นใจว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทย
- ผู้บริโภคไทยมีอายุมากกว่าประเทศอื่นๆ ผู้บริโภคสำหรับตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในไทยคือกลุ่ม Gen X (31%) และ Gen Y (51%) ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามจะเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า นั่นคือ Gen Y (59%, 53%) และ Gen Z (29%, 34%) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่ม Late Jobbers หรือคนทำงานของไทยที่มีอายุมาก ในกลุ่ม 41 ปีขึ้นไป มีการใช้เทคโนโลยีที่มากกว่า และเปิดรับกับไลฟสไตล์การสั่งอาหารออนไลน์กันมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้
- คนไทยยอมจ่ายเงินมากที่สุดในการสั่งแต่ละครั้ง โดยเฉลี่ย คนไทยจ่ายเงินต่อ 1 การสั่งซื้อสำหรับบริการฟู้ดเดลิเวอรี่อยู่ที่ $5.5 หรือราว 175 บาท ซึ่งสูงกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม ที่จ่ายอยู่ที่ราว $3.3 หรือ 105 บาท ทำให้ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ของไทยเป็นลาดที่น่าสนใจเพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง และยอมจ่ายเงินกับอาหารมากกว่า นอกจากนั้นตลาดไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก
- คนไทยนิยมชานมไข่มุก ในช่วง 10 เดือนของปี 2562 ตั้งแต่ GET เปิดตัวมา GET ขายชานมไข่มุกไปถึง 1.1 ล้านแก้ว หรือเฉลี่ยกว่า 3,600 แก้วต่อวัน และผู้บริหาร GET เผยว่าความนิยมของชานมไข่มุกในปีนี้ยังไม่ลดลง แม้จะมีเครื่องดื่มทางเลือกอื่นๆ เข้ามาที่ได้รับความนิยม แต่ชานมไข่มุกก็ยังคงครองใจเป็นอันดับหนึ่งของคนกรุงเทพฯ เหมือนเดิม
- โมเดลรันเนอร์ เดินส่งอาหารมาแรง GET เผยว่าได้ทดลองให้บริการ GET RUNNER ใน 3 เขตตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากคนที่ไม่มีจักรยานยนต์ที่สนใจจะหารายได้ด้วยงานส่งหาอาหาร หลายคนยังเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการหารายได้พิเศษในเวลาว่าง บางคนอยู่ระหว่างการหางานและมาทำอาชีพนี้คั่นเวลา ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพได้ทางหนึ่งที่มีรายได้ที่ดี มีสวัสดิการ และได้สุขภาพที่ดีด้วย และมีมลพิษต่ำ รันเนอร์บางคนก็นำจักรยานมาเอง หรือเช่าจักรยานของกทม. นอกจากนั้น จากการทดสอบยังพบว่าโมเดลที่จัดระยะส่งในช่วงสั้นๆ นี้ ยังทำให้ผู้ใช้บริการที่ชอบสั่งอาหารในระยะใกล้ๆ ได้รับอาหารที่เร็วขึ้นถึงเกือบ 10 นาที อีกด้วย